ฏาก เครื่องรางพื้นบ้าน ในแคว้นมหาราษฎร์
ฏาก ซึ่งแปลว่า ปากกา อาจเพราะในอดีตใช้การดุนขึ้นรูปด้วยปากกาอย่างง่าย ๆ หรือตัวเครื่องรางนี้มียอดแหลมคล้ายปากกา เทพเจ้าในฏากนั้น ล้วนแต่เป็นเทพพื้นเมืองประเภท “กุลไทวัต กุลเทวดา หรือเทพประจำตระกูล มีทั้งเจ้าพ่อและเจ้าแม่ดังที่ผมได้เคยเล่าไว้แล้ว องค์ที่นิยมสุดคือพระขัณโฑพา ซึ่งมักทำเป็นรูปพระองค์ประทับบนหลังม้า พร้อมด้วยชายาคือพระนางมฬหสา กำลังเข้าต่อสู้กับอสูร นอกนั้นก็มีเจ้าแม่สัปตศฤงคี เจ้าแม่ตุฬชภวานี เจ้าแม่ปัลยังคภวานี เจ้าแม่โชเคศวรี เจ้าพ่อเจ้าแม่เหล่านี้ล้วนมีเทวสถานตั้งอยู่ในแคว้นมหาราษฎร์ เรื่อยไปจนถึงคุชราต ส่วนมากเป็นเทพประเภทต้องไหว้ดีพลีถูกและมักดุร้ายให้คุณให้โทษได้ เครื่องรางจากชาวบ้าน ฏาก ในวิถีชาวบ้าน มีความเชื่อมากมาย จนสร้างขึ้นเป็นเครื่องราง ยกตัวอย่างเช่น ฏาก เครื่องรางชิ้นนี้ นอกจากกราบไหว้ฏากเหมือนเช่นเทวรูปองค์หนึ่งแล้ว เขายังมีวิธีใช้ในพิธีกรรม คือเมื่อเขาจะทำพิธีไหว้เทพ-ผีบรรพบุรุษที่เรียกว่า ชครัณ โคนธาล เขาจะตั้งแท่นพิธี เอาต้นอ้อยมาผูกกันเข้าทำเป็นซุ้ม เอาหม้อกลัศวางบนแท่น พร้อมด้วยเครื่องฑัณฑ์ทรมาน เช่น รองเท้าตะปู แส้ปอ โซ่ เครื่องพันธนาการต่าง ๆ สำหรับใช้ในการเข้าทรง นอกจากนี้ เขาจะเอาฏากของตระกูลนั้นตั้งไว้บนแท่นด้วย พอกลุ่มนักขับโคนธาลีขับบทและบรรเลงดนตรีไปเรื่อย ๆ จนลูกหลานเริ่มมีอาการตกภวังค์ ต่อมาผีเทพบรรพชนจะมาเข้าทรง ลูกหลานที่เข้าทรงสนิทดีแล้วจะเดินไปยังแท่น แล้วหยิบเอาฏากขึ้นมาหนึ่งอัน […]