การสวดภาณยักษ์ พิธีกรรมเพื่อขจัดสิ่งชั่วร้าย

การสวดภาณยักษ์ พิธีกรรมเพื่อขจัดสิ่งชั่วร้าย

พิธีกรรมการสวดภาณยักษ์เป็นพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว สำหรับพิธีดังกล่าวตามตำราแบบโบราณเชื่อกันว่าผู้ใดได้เข้าร่วมพิธีสวดภาณยักษ์แล้วจะเป็นการช่วยขจัดปัดเป่าสิ่งอัปมงคลต่างที่อยู่ในร่างกาย ล้างอาถรรพ์ ขจัดสิ่งชั่วร้ายทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นโรคภัยไข้เจ็บ, โดนคุณไสยหรือโดนยาสั่งยาเสน่ห์มนต์ดำ จะมลายหายไป และเป็นการสร้างเสริมบารมี

ถ้ากระทำด้วยพิธีกรรมการแบบโบราณอย่างถูกต้องแล้ว ผู้ที่ประสบเคราะห์กรรมต่างๆ ที่เข้าร่วมพิธีจะแคล้วคลาดปลอดภัยจากภยันตรายและจะทำกิจการใดก็ราบรื่นตลอดทั้งปีนั้น

บทสวดภาณยักษ์นำมาจากอาฏานาฏิยสูตร

กล่าวกันว่าพระสูตรที่พระสงฆ์นำมาสวดนั้นมาจากอาฏานาฏิยสูตร ซึ่งมีเนื้อหาว่าด้วยการคุ้มครองรักษาบรรดาสาวกที่ตามเสด็จพระพุทธเจ้ามาถึงในอาฏานาฏานคร บรรยายถึงเหตุการณ์การเข้าเฝ้าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ เขาคิชฌกูฏของท้าวจาตุมหาราชทั้ง 4 ผู้ปกครองสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา และผู้ดูแลปกครองยักษ์, คนธรรพ์, กุมภัณฑ์ และนาค

ด้วยท้าวจาตุมหาราชทั้ง 4 มีความหวั่นเกรงว่า หากพระสาวกของพระผู้มีพระภาคเสพเสนาสนะอันสงัดในป่า อาจถูกเหล่ายักษ์ที่เป็นมิจฉาทิฐิที่ไม่เลื่อมใสในพระธรรมวินัยของพระผู้มีพระภาคตลอดจนอมนุษย์ต่างๆมารบกวนและทำอันตราย

ด้วยเหตุนี้เพื่อคุ้มครองรักษาภิกษุ, ภิกษุณี, อุบาสกและอุบาสิกา ท้าวจาตุมหาราชทั้ง 4 จึงกราบทูลสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ทรงเรียนคาถาบทหนึ่ง เพื่อทำให้ยักษ์เหล่านั้นเลื่อมใส พระผู้มีพระภาคทรงรับโดยดุษณีภาพ ท้าวเวสสุวัณจึงกล่าวการรักษา ชื่อ อาฏานาฏิยา ซึ่งคำว่า “ รักขา” มีลักษณะเดียวกับ “ปริตร” คือสวดสำหรับคุ้มครองป้องกันภัย

การสวดภาณยักษ์แบ่งออกเป็น ปุพพภาคและปัจฉิมภาค

เนื่องจากพระสูตรดังกล่าวมีความยาวมาก ในหนังสือบทสวดมนต์หลวงส่วนของภาณวาร หรือจุตภาณวาร จึงแบ่งเป็น 2 ภาค คือ ปุพพภาคและปัจฉิมภาค ภาคแรกเรียกว่า “ยกฺขภาควาร” หรือ ภาณยักษ์ ส่วนภาคหลังเรียกว่า “พุทธภาควาร” หรือภาณพระ แต่ด้วยความที่มีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับยักษ์ และอมนุษย์ ผู้คนทั่วไปจึงนิยมเรียกกันว่าการสวดภาณยักษ์

นอกจากนี้ในอาฏานาฏิยสูตรในส่วนที่เป็น “รักขา” หรือคาถา หรือพระปริตร ที่ท้าวจาตุมหาราชทั้ง 4 ทรงถวายแด่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระองค์ได้ทรงมีพุทธานุญาตให้พระสงฆ์เรียนรักขานี้ เพื่อป้องกันภยันตรายจากยักษ์และอมนุษย์ที่เป็นมิจฉาทิษฐิ ต่อมาพระปริตรนี้นิยมสวดกันอย่าง

กว้างขวาง มีรวมอยู่ในจุลราชปริตร หรือ สวด 7 ตำนาน อันหมายถึงการสวดพระปริตร 7 บท และในมหาราชปริตร หรือสวด 12 ตำนาน อันหมายถึงการสวดพระปริตร 12 บท 

พิธีการสวดภาณยักษ์นั้นมีมาตั้งแต่ในสมัยโบราณแต่ไม่มีหลักฐานที่สามารถระบุได้ว่าเริ่มมีขึ้นเมื่อไร ในสมัยรัตนโกสินทร์มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ปรากฏว่า ได้มีการสวดอาฏานาฏิยสูตร หรืออาฏานาฏิยปริตรเพื่อสะเดาะเคราะห์ในพระนคร นอกจากนี้ยังปรากฏจารึกอาฏานาฏิยสูตร ในพระอารามหลวงวัดชุมพลนิกายาราม

ประเพณีไทยตามวัดต่างๆ โดยเฉพาะในต่างจังหวัดมักจัดให้มีการสวดภาณยักษ์ปีละครั้ง ความจริงแล้ว ก็คือการสวดพระอาฏานาฏิยปริตร แบ่งเป็น ๒ ภาค คือ ภาคภาณพระ และ ภาคภาณยักษ์

การสวดภาณพระ เป็นการสวดแบบมีทำนองครุ ลหุ คือมีการเน้นเสียงหนักเบา ใช้น้ำเสียงสวดที่ไพเราะ ส่วนการสวดภาณยักษ์ เป็นการสวดที่มีน้ำเสียงกระแทกกระทั้นดุดัน เกรี้ยวกราดและน่ากลัว